"Imagination is More Important Than Knowledge. Knowledge Is Limited. Imagination Encircles The World - จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ เพราะความรู้นั้นมีจำกัด แต่จินตนาการมีอยู่ทุกพื้นที่บนโลก"
Albert Einstein(อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์)

ไอแซก นิวตัน(Isaac Newton)

ไอแซก นิวตัน ผู้ค้นพบกฎแรงดึงดูดของโลก คุณสมบัติของแสง แคลคูลัส และไฮเพอร์โบลาไอแซก นิวตัน

ไอแซก นิวตัน(Isaac Newton) เกิดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1642 ที่หมู่บ้านวูลสธอร์พ(Woolsthorpe) เมืองลินคอร์นเชียร์ ประเทศอังกฤษ เนื่องจากนิวตันคลอดก่อนกำหนด ทำให้สุขภาพอ่อนแอ ตัวก็เล็กมาก บิดาของเขาเป็นเจ้าของที่ดินเล็กๆ แปลงหนึ่ง ซึ่งเสียชีวิตก่อนนิวตันเกิดประมาณ 3 เดือน มารดาของนิวตันชื่อว่า ฮานนา เอสคอช นิวตัน(Hannah Ayscough Newton) จึงต้องเลี้ยงเขาเพียงลำพัง ต่อมาเมื่อเขาอายุได้ 2 ปี มารดาก็ได้แต่งงานใหม่กับบานาบาส สมิธ(Barnabas Smith) ซึ่งมีอาชีพเป็นนักบวช และมีรายได้มากพอที่จะเลี้ยงมารดาและนิวตันได้อย่างสบาย อีกทั้งบานาบาสยินดีที่จะจ่ายค่าเช่าที่ดินให้กับนิวตันอีกถึงปีละ 50 ปอนด์ ซึ่งก่อนหน้านี้พ่อของนิวตันเก็บค่าเช่าได้เพียงปีละ 30 ปอนด์เท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้นญาติทางฝ่ายบิดาก็ยังเกลียดบานาบาส ทำให้มารดาของนิวตันต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น ส่วนนิวตันก็ต้องไปอยู่ในความอุปการะของญาติทางฝ่ายบิดาของเขา

การศึกษาของนิวตันเริ่มต้นที่บ้านเกิดของเขา และเมื่ออายุได้ 12 ปี จึงเดินทางไปยังเมืองแกรนแธม(Grantham) เพื่อศึกษาต่อที่โรงเรียนคิงส์(King's School) ในระหว่างนี้นิวตันได้ไปอาศัยอยู่กับครอบครัวคลาค ซึ่งมาดามคลาคเป็นเพื่อนสนิทของแม่ ด้วยความที่นิวตันเป็นคนเก็บตัวไม่ชอบสุงสิงกับเพื่อนในวัยเดียวกัน เวลาว่างส่วนใหญ่ใช้ไปกับการอ่านหนังสือ ค้นคว้า และประดิษฐ์สิ่งต่างๆ เป็นเรื่องโชคดีของนิวตันที่มิสเตอร์คลาคเป็นนักสะสมขวดสารเคมี และหนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ไว้เป็นจำนวนมาก ทำให้นิวตันมีโอกาสได้ศึกษาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ นิวตันเรียนที่โรงเรียนคิงส์เพียง 4 ปีเท่านั้น ก็ต้องกลับบ้านเกิดเพราะบานาบาสพ่อเลี้ยงของเขาเสียชีวิต พร้อมกับทิ้งทรัพย์สมบัติไว้ให้กับแม่เขาจำนวนหนึ่ง แม่ของนิวตันต้องการกลับไปทำฟาร์มอีกครั้ง และขอร้องให้นิวตันไปช่วยงานในฟาร์มด้วย แต่นิวตันไม่ชอบทำงานในฟาร์ม เขาไม่เคยสนใจหรือเอาใจใส่สัตว์เลี้ยงของเขาเลยแม้แต่น้อย เขายังใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับการอ่านหนังสือ และประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ซึ่งระหว่างนี้นิวตันได้ประดิษฐ์นาฬิกาแดด(Sun Dial) นอกจากนี้เขายังชอบนั่งมองดูดาวบนท้องฟ้าเพื่อสังเกตการเคลื่อนที่ของดาวเหล่านั้น

นิวตันทำงานในฟาร์มได้เพียง 1 ปีเท่านั้น มิสเตอร์สโตกส์(Mr. Stokes) ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของแม่ และเป็นครูของเขาได้มาบอกกับแม่ของเขาว่านิวตันเป็นคนฉลาดและมีความสามารถ ควรส่งนิวตันไปเรียนต่อที่โรงเรียนคิงส์ เพื่อเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย อีกทั้งน้าของนิวตัน วิลเลี่ยม แอสคอช(William Ayscough) ซึ่งเป็นนักบวชก็เห็นดีในข้อนี้ เมื่อทั้งสองช่วยกันพูด นิวตันจึงได้เรียนต่อที่โรงเรียนคิงส์ หลังจากสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนคิงส์ นิวตันได้เข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยตรินิตี้(Trinity College) และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์(Cambridge University)

กาลิเลโอ กาลิเลอี ผู้ค้นพบว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของสุริยะจักรวาลและโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์กาลิเลโอ กาลิเลอี

ในปี ค.ศ. 1664 เกิดกาฬโรคระบาดในกรุงลอนดอนและได้แพร่ระบาดเข้ามาในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ด้วย ดังนั้นทางมหาวิทยาลัยจึงหยุดการเรียนการสอนเป็นระยะเวลา 8 เดือน นิวตันจึงเดินทางกลับบ้าน และถือว่าเป็นโอกาสที่ดีของนิวตันในการศึกษาค้นคว้าและทดลองวิทยาศาสตร์ ด้วยความที่นิวตันชอบวิชาดาราศาสตร์ เขาตั้งใจจะประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์เลียนแบบของกาลิเลโอขึ้นด้วยตัวเอง เพื่อจะได้ส่องดูดวงดาวได้ชัดเจนตามที่ต้องการ ทำให้เขาได้พบสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือ ทฤษฎีเกี่ยวกับแสงซึ่งเป็นทฤษฎีบทแรกของเขา ในขณะที่นิวตันกำลังฝนเลนส์ เขาสังเกตเห็นว่ามีสีรุ้งปรากฏอยู่บริเวณขอบเลนส์ เขาพยายามฝนเลนส์เพื่อให้แสงสีรุ้งที่ขอบเลนส์หายไป แต่ก็ไม่สามารถทำได้ ในที่สุดเขาจึงเปลี่ยนมาใช้กระจกเงาเว้าหรือกระจกเงารวมแสงแทนเลนส์วัตถุ ส่วนเลนส์ตายังคงใช้เลนส์นูนตามเดิม กล้องโทรทรรศน์ของนิวตันเป็นต้นแบบของกล้องโทรทรรศน์ชนิดสะท้อนแสงในปัจจุบัน นิวตันได้นำกล้องโทรทรรศน์ของเขาไปเสนอกับทางสมาคมวิทยาศาสตร์ ซึ่งทางสมาคมได้รับรองผลงานชิ้นนี้ของนิวตัน เมื่อมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เปิดทำการอีกครั้ง นิวตันได้รับเชิญเข้าเป็นอาจารย์สอนวิชาคณิตศาสตร์ ประจำมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในปี ค.ศ. 1667 4 ปีต่อมาก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์วิชาคณิตศาสตร์ ปี ค.ศ. 1672 นิวตันก็ได้รับเชิญให้ร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมวิทยาศาสตร์

การประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์ครั้งนี้ทำให้เขาค้นพบคุณสมบัติของแสง นิวตันได้เริ่มทดลองเกี่ยวกับแสงโดยการปิดห้องจนมืดสนิทแล้วให้แสงลอดผ่านเข้ามาในห้องโดยผ่านช่องเล็กๆและมีแท่งแก้วสามเหลี่ยมหรือที่เรียกว่าปริซึม(Prism) รับแสงที่ผ่านเข้ามา ผลปรากฏว่าแสงที่ผ่านปริซึมมีถึง 7 สี ได้แก่ ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง ตามลำดับ นิวตันได้ทดลองซ้ำอีกหลายครั้งก็ได้ผลออกมาเหมือนกันทุกครั้ง นิวตันได้ทดลองเพิ่มเติมโดยใช้ปริซึมเพิ่มอีก 1 อัน เมื่อแสงผ่านปริซึม 2 อัน ผลปรากฏว่าแสงกลายเป็นสีขาวเหมือนกับที่ผ่านเข้ามาในครั้งแรก จากผลการทดลองนิวตันสามารถสรุปได้ว่า แสงอาทิตย์ประกอบด้วยแสงสี 7 สี ได้แก่ ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด และแดง ตามลำดับ และเมื่อแสงทั้ง 7 รวมกันก็จะกลายเป็นแสงสีขาว

ทฤษฎีบทต่อมาที่ทำให้เขามีชื่อเสียงมากที่สุด คือ การค้นพบกฎแรงดึงดูดของโลก(Law of Gravitation) นิวตันค้นพบทฤษฎีนี้โดยบังเอิญขณะนั่งดูดวงจันทร์แล้วเกิดสงสัยว่าทำไมดวงจันทร์จึงต้องหมุนรอบโลก ในระหว่างที่เขากำลังนั่งมองดวงจันทร์เพลินๆ ก็ได้ยินเสียงแอปเปิ้ลตกลงพื้น เมื่อนิวตันเห็นเช่นนั้นก็เกิดความสงสัยมากขึ้นไปอีกว่า ทำไมวัตถุต่างๆ จึงต้องตกลงสู่พื้นดินเสมอ ทำไมไม่ลอยขึ้นบ้าง ซึ่งนิวตันคิดว่าต้องมีแรงอะไรสักอย่างที่ทำให้แอปเปิ้ลตกลงพื้นดิน นิวตันจึงเริ่มทดลองเกี่ยวกับแรงโน้มถ่วงของโลก การทดลองขั้นแรก คือ การนำก้อนหินมาผูกเชือก จากนั้นก็แกว่งไปรอบๆ นิวตันสรุปการทดลองครั้งนี้ว่าเชือกเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ก้อนหินแกว่งไปมาไม่หลุดลอยไป ดังนั้นสาเหตุที่โลก ดาวเคราะห์ ต้องหมุนรอบดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ต้องหมุนรอบโลกต้องเกิดจากแรงดึงดูดที่ดวงอาทิตย์ที่มีต่อโลก และดาวเคราะห์ และแรงดึงดูดของโลกที่ส่งผลต่อดวงจันทร์ รวมถึงสาเหตุที่แอปเปิ้ลตกลงพื้นดินก็เกิดจากแรงดึงดูดของโลกด้วย นอกจากกฎแรงดึงดูดของโลก นิวตันยังตั้งกฎเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของวัตถุ(Law of Motion) ไว้ทั้งหมด 3 ข้อ

1. วัตถุจะอยู่ในสภาพคงที่หรือเคลื่อนที่อย่างสม่ำเสมอ ถ้าไม่มีแรงจากภายนอกมากระทำต่อวัตถุนั้น

2. เมื่อมีแรงลัพธ์ที่ไม่เป็นศูนย์มากระทำต่อวัตถุ จะทำให้วัตถุเคลื่อนที่ด้วยความเร่งในทิศเดียวกับทิศของแรงลัพธ์และขนาดของความเร่งนี้จะแปรผันตรงกับขนาดของแรงลัพธ์และแปรผกผันกับมวลของวัตถุนั้น

3. แรงกิริยาและแรงปฏิกิริยาจะเท่ากันเสมอ หมายถึง เมื่อมีแรงมากระทำต่อวัตถุนั้นเท่าใด ก็จะเกิดแรงปฏิกิริยาโต้ตอบในทิศทางตรงกันข้ามเท่ากัน

นิวตันได้ค้นพบกฎเกี่ยวกับแรงดึงดูดของโลกแต่ก็มิได้ตีพิมพ์เผยแพร่ จนกระทั่งวันหนึ่งเอ็ดมันต์ ฮัลเลย์(Edmund Halley) นักวิทยาศาสตร์ที่ทำการค้นคว้าเกี่ยวกับแรงดึงดูดเช่นกันได้เดินทางมาพบกับนิวตัน เพื่อซักถามข้อสงสัยเกี่ยวกับแรงดึงดูด ซึ่งนิวตันสามารถตอบข้อสงสัยของฮัลเลย์ได้ทั้งหมด ทำให้ฮัลเลย์รู้สึกโกรธแค้นที่นิวตันสามารถค้นพบกฎแรงดึงดูดได้ก่อนเขา ดังนั้นเขาจึงกล่าวหานิวตันว่าขโมยความคิดของเขาไป เพื่อนๆ และลูกศิษย์ของนิวตันจึงบอกให้นิวตันนำผลงานของเขาออกเผยแพร่ลงในหนังสือชื่อว่า The Principia โดยใช้ชื่อเรื่องว่า Philosophiæ Naturalis Principia Mathematica ซึ่งมีทั้งหมด 3 เล่ม เล่มแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎการเคลื่อนที่ เล่มที่สองเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของวัตถุ เล่มสุดท้ายเป็นเรื่องเกี่ยวกับแรงดึงดูดของโลก หลังจากหนังสือ 3 เล่มนี้เผยแพร่ออกไป ข้อกล่าวหาของเอ็ดมันด์ ฮัลเลย์ ก็เป็นอันตกไป ผลงานการค้นพบกฎแรงดึงดูดทำให้นิวตันมีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในฐานะของนักวิทยาศาสตร์ผู้มีผลงานยอดเยี่ยม ส่วนหนังสือของเขาก็ได้รับการชื่นชมว่าเป็นหนังสือที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งเลยทีเดียว

นอกจากทฤษฎี 2 ข้อข้างต้นแล้ว(ทฤษฎีเกี่ยวกับแสงและกฎแรงดึงดูดของโลก) นิวตันยังให้กำเนิดวิชาคณิตศาสตร์แขนงใหม่อีกด้วย ได้แก่ แคลคูลัส(Calculus) แต่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อว่าแคลคูลัสเชิงอินทิกรัล(Integral Calculus) ต่อมานิวตันได้พบการคำนวณอีกวิธีหนึ่ง ใช้สำหรับคำนวณหาเซตบนจุดระนาบ เรียกว่า ไฮเพอร์โบลา(Hyperbola) ซึ่งผลจากการคำนวณพบว่า ผลต่างของระยะห่างระหว่างจุดใดๆ ในเซตกับจุดคงที่ 2 จุดมีค่าเท่ากันเสมอ นอกจากนั้นแล้วนิวตันยังค้นพบทฤษฎีไบโนเมียล(Binomial Theorem) และวิธีการกระจายอนุกรม(Method of Expression) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิชาพีชคณิต

ผลงานของนิวตันไม่ได้มีเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เท่านั้น ในปี ค.ศ. 1695 ประเทศอังกฤษประสบปัญหาเงินปลอมระบาด รัฐบาลได้มอบหมายหน้าที่ให้นิวตันแก้ไขปัญหาเงินปลอม ซึ่งในขณะนั้นเขาดำรงตำแหน่งผู้แทนของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในรัฐสภา และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้รักษาการเจ้ากรมกษาปณ์ นิวตันแก้ปัญหาโดยให้ทำเหรียญเงินชนิดใหม่ที่มีลายเส้นอยู่ที่ขอบเหรียญเช่นเดียวกับเหรียญในปัจจุบัน ส่วนธนบัตร นิวตันได้ค้นพบวิธีการพิมพ์แบบลายน้ำลงในธนบัตร วิธีการของนิวตันใช้ได้ดีมาก และทำให้เงินปลอมในประเทศอังกฤษหมดไป จากผลงานนี้นิวตันได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมกษาปณ์ ในปี ค.ศ. 1699 ต่อมาในปี ค.ศ. 1703 เขาได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานราชสมาคมแห่งกรุงลอนดอน(Royal Society of London) และในปี ค.ศ. 1705 ด้วยความสามารถอีกทั้งผลงานในด้านต่างๆ ของนิวตัน สมเด็จพระนางเจ้าแอนน์(Queen Ann) พระราชินีแห่งประเทศอังกฤษได้ทรงพระราชทานบรรดาศักดิ์ชั้นอัศวิน(Knight) ในตำแหน่งเซอร์(Sir) ให้กับไอแซก นิวตัน

เซอร์ไอแซก นิวตัน ได้อุทิศตนและเวลาทั้งหมดในชีวิตของเขาให้กับงานค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งผลงานทาวิทยาศาสตร์ของเขาเป็นสิ่งที่มีค่ามหาศาลทั้งการค้นพบคุณสมบัติของแสง ซึ่งทำให้ในเวลาต่อมาวิลเลียม เฮอร์เชล(William Herchel) นักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาลีได้ค้นพบรังสีอินฟาเรด(Infared) ซึ่งเป็นรังสีที่อยู่เหนือแสงสีแดง และเรินเกนต์ นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันค้นพบรังสีเอกซ์(X-ray) ที่มีประโยชน์อย่างมากในวงการแพทย์ อีกทั้งการค้นพบกฎแรงดึงดูดของโลกและวิชาแคลคูลัส ก็ทำให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นต่อมาสามารถคำนวณหาความเร็วของจรวดให้พ้นจากแรงดึงดูดของโลกได้

ในช่วงบั้นปลายชีวิตของนิวตัน เขายังคงทำงานค้นคว้าด้านวิทยาศาสตร์ต่อไป นิวตันทำงานอย่างหนักจนไม่มีเวลาพักผ่อน ส่วนอาหารก็กินเป็นเวลาบ้างไม่เป็นเวลาบ้าง ทำให้สุขภาพของเขาทรุดโทรมลงเรื่อยๆ และล้มป่วย แต่ถึงอย่างไรเมื่ออาการทุเลาลง นิวตันก็ลุกขึ้นมาทำงานของเขาต่อไป ทำให้ล้มป่วยลงอีกครั้งและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1727 ในขณะที่มีอายุ 85 ปี ศพของเขาฝังอยู่ในวิหารเวสต์มินสเตอร์(Westminster Abbey)

 

ความรู้อื่นๆ ที่น่าสนใจ

7 ข้อแนะนำสำหรับขาแรงก่อนลงแข่งขันวิ่งระยะไกล

7 ข้อแนะนำเตรียมความพร้อมก่อนเข้าร่วมการแข่งขันวิ่งระยะไกล เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้าแข่งขัน

อริสโตเติล

นักธรรมชาติวิทยาคนแรกของโลก

วิลเลี่ยม ฮาร์วี่

นายแพทย์ชาวอังกฤษผู้ใช้เวลากว่า 10 ปีในการศึกษาระบบการไหลเวียนโลหิตในร่างกายว่าทำงานอย่างไร

ภาวะ "คลอดก่อนกำหนด"

เนื่องจากภาวะคลอดก่อนกำหนดจะทำให้ร่างกายของเด็กที่คลอดออกมายังไม่พร้อมต่อการเผชิญสภาพแวดล้อมภายนอก จึงต้องมีการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกงูกัด

เมื่อถูกงูกัด ควรตั้งสติให้ดีและปฐมพยาบาลให้ถูกต้อง เพื่อให้พิษส่งผลกระทบกับผูถูกกัดน้อยที่สุด และสามารถนำส่งแพทย์ได้ทัน

ทำอย่างไร...ห่างไกลสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อมนั้นถือว่าเป็นโรคชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ภาวะปกติของผู้สูงอายุ สาเหตุเกิดจากลักษณะการใช้ชีวิตในแต่ละวันของคนเราว่าจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้หรือไม่ จึงควรรู้ถึงสาเหตุและวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะสมองเสื่อม