"สัจจวาจา นั้นเป็นรากฐานของการทำงาน หรือการดำรงชีวิตที่ดีที่งามที่มีความก้าวหน้า มีความสำเร็จ "สัจ" เป็นการตั้งใจ ตั้งจิตใจ "วาจา" เป็นคำพูดออกมา แสดงถึงคำพูดนั้นต้องออกมาจากใจ คือเป็นการตั้งใจที่จะทำอะไรเพื่อความสำเร็จในงานนั้น"
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

เบนจามิน แฟรงคลิน(Benjamin Franklin)

เบนจามิน แฟรงคลิน นักวิทยาศาสตร์คนแรกที่ศึกษาเกี่ยวกับสาเหตุของฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า และคิดค้นสายล่อฟ้าเบนจามิน แฟรงคลิน

เบนจามิน แฟรงคลิน(Benjamin Franklin)เกิดเมื่อวันที่ 17 มกราคม ค.ศ. 1706 ที่กรุงบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา บิดาชื่อว่า โจซิอาร์ แฟรงคลิน มีอาชีพทำสบู่และเทียนไข ครอบครัวแฟรงคลินลี้ภัยทางศาสนาจากประเทศอังกฤษมาอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกา เบนจามินได้รับการศึกษาครั้งแรกที่โรงเรียนใกล้ๆ บ้าน แต่เรียนได้ 2 ปีเท่านั้นก็ต้องลาออกเพราะต้องช่วยเหลือกิจการของครอบครัว แต่เบนจามินก็ยังต้องการศึกษาต่อ เมื่ออายุได้ 12 ปี บิดาส่งเขาไปอยู่กับเจมส์ แฟรงคลิน(James Franklin) พี่ชายคนโตของเขาซึ่งมีกิจการโรงพิมพ์ชื่อว่านิว อิงแลนด์ เคอร์เรนท์(New England Current) ที่กรุงบอสตัน เบนจามินช่วยงานในโรงพิมพ์อย่างขยันขันแข็ง เขาได้ฝึกงานในตำแหน่งช่างพิมพ์ วันหนึ่งเบนจามินได้นำงานเขียนของเขาไปใส่รวมกับงานของนักเขียนคนอื่น เมื่อเจมส์ได้อ่านก็รู้สึกชอบและตีพิมพ์เรื่องของเบนจามิน เมื่อผลงานชิ้นนี้เผยแพร่ออกไป ปรากฏว่าเป็นที่นิยมของชาวเมือง เบนจามินจึงออกมาเปิดเผยว่านั่นคือบทความของเขา ทำให้พี่ชายเขาโกรธมากและมีปากเสียงกันอย่างรุนแรง ต่อมาเขาจึงลาออกจากโรงพิมพ์ของพี่ชาย

หลังจากลาออกจากโรงพิมพ์ เขาก็มาเปิดกิจการโรงพิมพ์ของเขาเอง ที่เมืองฟิลลาเดเฟีย(Philadelphia) ขณะนั้นเขามีอายุเพียง 17 ปีเท่านั้น ในช่วงแรกๆ แฟรงคลินได้ตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับข่าวสารและความรู้ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก จากนั้นได้หันมาพิมพ์หนังสือประเภทปฏิทินพิสดารแทน(Almanac) ซึ่งใช้ชื่อหนังสือว่า Poor Richard ซึ่งแฟรงคลินเป็นผู้เขียนบทความลงในหนังสือเล่มนี้เอง โดยใช้นามปากกาว่า Richard Sander ภายในปฏิทินจะมีเรื่องราวที่น่าสนใจมากมาย ทั้งคำคมและคติสอนใจ และยังได้พิมพ์หนังสือพิมพ์อีกด้วย โดยใช้ชื่อหนังสือพิมพ์ว่า เพนน์ซิลวาเนีย กาเซท(Pennsylvania Gazette) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่ได้รับความนิยมมาก นอกจากนี้ เขายังพิมพ์หนังสือประเภทบันเทิงคดีและหนังสือตลกอีกด้วย ระหว่างนี้เขาได้ใช้เวลาว่างศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมและเดินทางไปประเทศอังกฤษเพื่อศึกษางานด้านการพิมพ์โดยการสนับสนุนจากผู้บริหารท้องถิ่นคนหนึ่ง แต่เมื่อเดินทางไปถึงประเทศอังกฤษ ผู้บริหารคนนี้กลับไม่ส่งเงินไปให้เขาตามที่รับปากไว้ ทำให้เขาต้องหางานทำโดยเปิดโรงพิมพ์เล็กๆ ที่บ้านพัก ต่อมาในปี ค.ศ. 1725 เขาจึงเดินทางกลับสหรัฐอเมริกา และเปิดโรงพิมพ์อีกครั้ง

เมื่อกิจการโรงพิมพ์ของเขามีความมั่นคงดีแล้ว เขาจึงหันมาทำงานเพื่อสังคมบ้าง โดยเริ่มจากการรวบรวมสมาชิกเพื่อจัดตั้งห้องสมุดสาธารณะภายในเมืองขึ้น โดยสมาชิกภายในกลุ่มจะต้องจัดหาหนังสือมาเพื่อแลกเปลี่ยนให้กับสมาชิกคนอื่นได้อ่าน ต่อมาเขาได้เข้าสู่วงการการเมือง ทำให้ต้องเดินทางไปยังประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศอังกฤษด้วย ซึ่งเมื่อเขาเดินทางไปยังกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เขาได้มีโอกาสพบกับนักวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่งที่ทำการทดลองเกี่ยวกับประกายไฟฟ้า ทำให้แฟรงคลินมีความสนใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ และเรื่องที่เขาสนใจมากที่สุดก็คือ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ทำให้เกิดฟ้าแลบ ฟ้าร้องและฟ้าผ่า แฟรงคลินเริ่มสังเกตลักษณะของฟ้าแลบและสรุปว่า

จากการศึกษาเกี่ยวกับการสร้างเครื่องประจุไฟฟ้าสถิตของออตโต ฟอน เกริเก(Otto von Guericke) และการสังเกตลักษณะของฟ้าแลบในเบื้องต้น เขาได้สันนิษฐานการเกิดฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และฟ้าผ่า ว่าน่าจะเกิดจากประจุไฟฟ้าบนท้องฟ้าแน่นอน แต่เพื่อให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น เขาจึงทำการทดลองครั้งแรกในปี ค.ศ. 1749 โดยใช้ว่าวที่ทำด้วยผ้าแพรแทนกระดาษ อีกทั้งมีเหล็กแหลมติดอยู่ที่ตัวว่าว เขาได้ผูกลูกกุญแจที่ปลายสายป่านและผูกริบบิ้นไว้กับสายป่านอีกทีหนึ่ง เขานำว่าวขึ้นขณะฝนตกฟ้าคะนอง เมื่อฝนตกและทำให้สายป่านเปียก ผลปรากฏว่ามีประจุไฟฟ้าไหลลงมาทางเชือกสู่ลูกกุญแจ แต่แฟรงคลินไม่ได้รับอันตรายจากกระแสไฟฟ้า เนื่องจากเขาจับริบบิ้นซึ่งเป็นฉนวนไฟฟ้า จากนั้นเขาจึงลองใช้เศษหญ้าแห้งจ่อเข้ากับลูกกุญแจ ปรากฏว่าเกิดประจุไฟฟ้าไหลเข้าสู่มือเขา จากนั้นเขาก็นำลูกกุญแจวางลงพื้นดินก็เกิดประกายไฟฟ้าขึ้นอีก จากนั้นเขาจึงนำขวดเลเดน(เครื่องมือเก็บประจุไฟฟ้า ทำด้วยแก้ว ข้างนอกและข้างในบุด้วยดีบุกจนหมดขวด)มาต่อเข้ากับกุญแจ ปรากฏว่าประจุไฟฟ้าไหลลงมาในขวด จากผลการทดลองแฟรงคลินสามารถสรุปถึงสาเหตุของการเกิดฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และฟ้าผ่า ว่าเกิดขึ้นจากประจุไฟฟ้าบนท้องฟ้า ซึ่งเกิดจากการเสียดสีระหว่างก้อนเมฆกับอากาศ ทำให้เกิดไฟฟ้าสถิต

จากการค้นพบประจุไฟฟ้าในอากาศครั้งนี้ นำไปสู่ความคิดในการประดิษฐ์สายล่อฟ้า เพื่อระบายประจุไฟฟ้าในอากาศไม่ให้เกิดความเสียหายจากฟ้าผ่า ในปี ค.ศ. 1752 แฟรงคลินได้ประดิษฐ์สายล่อฟ้าขึ้นสำเร็จเป็นครั้งแรก สายล่อฟ้าของเขามีลักษณะเป็นโลหะปลายแหลมผูกติดไว้บนยอดอาคารสูง ส่วนปลายโลหะเชื่อมต่อกับสายไฟยาวลงไปในแนวดิ่ง ห้ามคดหรืองอเด็ดขาด มิฉะนั้นอาจเกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้ ปลายของสายไฟจะถูกฝังลึกลงในพื้นดินพอสมควร ซึ่งบริเวณด้านล่างของหลุมนี้จะมีแผ่นโลหะขนาดใหญ่ปูเอาไว้เพื่อให้กระแสไฟฟ้าที่ไหลลงมานั้นกระจายออกไปบนแผ่นโลหะนี้ สายล่อฟ้าของแฟรงคลินถือว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีประโยชน์อย่างยิ่งในการป้องกันความเสียหายของอาคารสูงที่มักถูกฟ้าผ่าได้ง่าย และป้องกันผู้คนที่เดินไปมาตามท้องถนนไม่ให้ถูกฟ้าผ่าจนถึงแก่ชีวิต การค้นพบครั้งนี้ยังทำให้แฟรงคลินรู้ว่าประจุไฟฟ้ามี 2 ชนิด คือ ประจุไฟฟ้าบวก และประจุไฟฟ้าลบ

ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือแฟรงคลินไม่ได้นำสายล่อฟ้าไปจดทะเบียนสิทธิบัตร เขาต้องการให้ทุกคนสามารถทำใช้กันเองได้ เนื่องจากสายล่อฟ้าเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ทำได้ง่าย ไม่สลับซับซ้อน และจากผลงานชิ้นนี้แฟรงคลินได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของราชสมาคมแห่งกรุงลอนดอน(Royal Society of London) ด้วย ซึ่งสมาชิกราชสมาคมแห่งนี้ล้วนแล้วแต่เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถทั้งสิ้น เช่น โรเบิร์ต ฮุค(Robert Hooke) และเซอร์ไอแซก นิวตัน(Sir Isaac Newton) เป็นต้น

นอกจากผลงานด้านวิทยาศาสตร์แล้ว แฟรงคลินยังมีความสามารถอีกหลายด้าน เช่น นักเขียน นักการทูต นักการเมือง และนักหนังสือพิมพ์ แฟรงคลินยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐบุรุษคนสำคัญของประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเขาเป็นผู้หนึ่งที่ทำให้สหรัฐฯ หลุดพ้นจากการเป็นประเทศอาณานิคมของอังกฤษ อีกทั้งยังเป็นผู้ร่างคำประกาศอิสรภาพอีกด้วย เมื่อประเทศสหรัฐอเมริกาประกาศอิสรภาพได้สร้างความไม่พอใจให้กับประเทศอังกฤษเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดสงครามขึ้น แฟรงคลินได้เดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศสเพื่อขอการสนับสนุนทางการเงินและอาวุธสงคราม เมื่อสงครามยุติลง แฟรงคลินยังได้เป็นผู้หนึ่งที่ได้ลงนามในสัญญาสันติภาพ ภายหลังจากที่สหรัฐฯ ได้รับอิสรภาพแล้ว แฟรงคลินยังมีส่วนสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา แม้ว่าแฟรงคลินจะไม่ได้รับตำแหน่งสำคัญทางการเมืองเลยเนื่องจากเขาชราภาพมากแล้ว แต่เขาก็เป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของอเมริกา

แฟรงคลินเสียชีวิตในวันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 1790 ถึงแม้ว่าเขาจะเสียชีวิตไปแล้ว แฟรงคลินยังได้สร้างคุณประโยชน์ไว้โดยการมอบทรัพย์สินส่วนหนึ่งเพื่อสร้างสาธารณประโยชน์ เช่น สร้างโรงเรียน ซ่อมแซมบ้านเรือนภายในเมืองบอสตัน และฟิลลาเดเฟีย และอีกส่วนหนึ่งยังใช้ในการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แฟรงคลิน ต่อมาในปี ค.ศ. 1900 เขาได้รับการยกย่องจากสถาบันแห่งชาติสหรัฐฯ ในฐานะบุคคลผู้สร้างคุณประโยชน์ให้กับบ้านเมือง

 

ความรู้อื่นๆ ที่น่าสนใจ

7 ข้อแนะนำสำหรับขาแรงก่อนลงแข่งขันวิ่งระยะไกล

7 ข้อแนะนำเตรียมความพร้อมก่อนเข้าร่วมการแข่งขันวิ่งระยะไกล เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้าแข่งขัน

อริสโตเติล

นักธรรมชาติวิทยาคนแรกของโลก

วิลเลี่ยม ฮาร์วี่

นายแพทย์ชาวอังกฤษผู้ใช้เวลากว่า 10 ปีในการศึกษาระบบการไหลเวียนโลหิตในร่างกายว่าทำงานอย่างไร

ภาวะ "คลอดก่อนกำหนด"

เนื่องจากภาวะคลอดก่อนกำหนดจะทำให้ร่างกายของเด็กที่คลอดออกมายังไม่พร้อมต่อการเผชิญสภาพแวดล้อมภายนอก จึงต้องมีการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกงูกัด

เมื่อถูกงูกัด ควรตั้งสติให้ดีและปฐมพยาบาลให้ถูกต้อง เพื่อให้พิษส่งผลกระทบกับผูถูกกัดน้อยที่สุด และสามารถนำส่งแพทย์ได้ทัน

ทำอย่างไร...ห่างไกลสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อมนั้นถือว่าเป็นโรคชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ภาวะปกติของผู้สูงอายุ สาเหตุเกิดจากลักษณะการใช้ชีวิตในแต่ละวันของคนเราว่าจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้หรือไม่ จึงควรรู้ถึงสาเหตุและวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะสมองเสื่อม